สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จเปิดนิทรรศการ “ศิลปกรรมช้างเผือก ครั้งที่ 13”

นิทรรศการ “ศิลปกรรมช้างเผือก ครั้งที่ 13 ภายใต้หัวข้อ “ความหลากหลายทางชีวภาพ” ที่จัดโดย บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นเวทีการประกวดงานศิลปะสำหรับการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะ ที่แสดงถึงแก่นแท้ความคิดผ่านงานเสมือนจริง และงานศิลปะรูปลักษณ์ โดยผลงานที่ได้รับรางวัลช้างเผือก ได้แก่ “ดินแดนแห่งชีวิต” โดย คุณธีรพล โพธิ์เปี้ยศรี รับเงินรางวัล 1,000,000 บาท รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ “ความหลากหลาย ภายใต้สภาวะที่ถูกครอบงำ” โดย คุณไชยันต์ นิลบล รับเงินรางวัล 500,000 บาท รางวัลคุณหญิงวรรณา ได้แก่ “Bond of Friendship (ความผูกพันแห่งมิตรภาพ )”  โดย คุณเญอรินดา แก้วสุวรรณ รับเงินรางวัล 400,000 บาท รางวัล CEO AWARD ได้แก่ “เสียงจากป่า 2024” โดย คุณสันติ สีดาราช รับเงินรางวัล 250,000 บาท นอกจากนี้ยังมีรางวัลรองชนะเลิศ 5 รางวัล รางวัลละ 200,000 บาท ประกอบด้วย คุณจักรชัย เพ็ชรปานกัน คุณบุญมี แสงขำ คุณพรสวรรค์ นนทะภา  คุณลดากร พวงบุบผา คุณสุวิวัฒณ์ หวานอารมย์ และรางวัลชมเชยอีก 12 รางวัล รางวัลละ 100,000 บาท

คุณนิติกร กรัยวิเชียร ผู้อำนวยการโครงการส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า“การประกวดศิลปกรรมช้างเผือก เกิดจากความตั้งใจอันดีของ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเฟ้นหาศิลปินไทยรุ่นใหม่ที่มีทักษะความสามารถทางศิลปะอันโดดเด่น ในการสร้างสรรค์ศิลปะแบบเหมือนจริง (Realistic) และศิลปะรูปลักษณ์ (Figurative Art) โดยยึดถือความเหมือนจริงเป็นแก่นสำคัญเพื่อให้ผลงานศิลปะเหล่านี้เป็นอีกหนึ่งแนวทางที่สำคัญ ในการเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจด้านศิลปะร่วมสมัยให้ขยายไปสู่การรับรู้ของสังคมในวงกว้าง การดำเนินการประกวดศิลปกรรมช้างเผือก เริ่มต้นขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2554 และดำเนินงานต่อเนื่องเรื่อยมาเป็นประจำทุกปี โดยในปี พ.ศ. 2567 นับเป็นการจัดการประกวดครั้งที่ 13 ในหัวข้อ ‘ความหลากหลายทางชีวภาพ’ เพื่อให้ศิลปินผู้สร้างสรรค์ผลงานศิลปะได้แสดงฝีมือและความคิดสร้างสรรค์ โดยตีความจากโจทย์  ที่กำหนดให้ ซึ่งศิลปินที่เข้าร่วมประกวดแต่ละคน ก็ต่างสร้างสรรค์ผลงานที่น่าสนใจในรูปแบบและแนวทางที่แตกต่างได้อย่างน่าประทับใจ และได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี

การประกวดครั้งนี้ มีผู้ร่วมส่งผลงานทั้งหมด 241 ท่าน จำนวนผลงานมากกว่า 270 ผลงาน และผ่านการคัดเลือกทั้งหมด 50 ชิ้นงาน บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) รู้สึกสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี อย่างหาที่สุดมิได้ ที่ได้เสด็จพระราชดำเนินมาทรงเป็นองค์ประธานในการพระราชทานรางวัลตั้งแต่การประกวดครั้งแรกตราบจนปัจจุบัน และขอขอบพระคุณคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิทุกท่าน ตลอดจนศิลปินผู้ส่งผลงานเข้าร่วมการประกวดทุกคน และจะมุ่งมั่นในการส่งเสริมและสนับสนุนให้วงการศิลปะร่วมสมัยของประเทศไทยประสบความสำเร็จสืบเนื่องต่อไปในอนาคต”

นอกจากนี้ ไทยเบฟ ยังขยายผลโครงการให้ศิลปินได้มีโอกาสเผยแพร่ผลงานสู่สายตาของกลุ่มคนที่หลากหลาย และวงกว้างขึ้น ในงาน Sustainability EXPO 2024 ซึ่งเป็นมหกรรมด้านความยั่งยืนที่จัดอย่างต่อเนื่องสู่ปีที 5 โดยมีแนวคิดหลักคือ พอเพียง ยั่งยืน เพื่อโลก จึงเชื่อว่าผลงานโครงการศิลปกรรมช้างเผือกชุดนี้จะเป็นส่วนหนึ่งที่จะส่งเสริมการตระหนักรับรู้ถึงความสำคัญของการสร้างสมดุลโลก เพื่อโลกที่ดีขึ้น ผ่านมิติทุกด้าน รวมถึงด้านศิลปวัฒนธรรม ที่ในแนวทาง Arts for Sustainability ขอเชิญชวนทุกท่าน พบกับนิทรรศการนี้อีกครั้ง ในงาน SX2024 ระหว่างวันที่ 27 กันยายน – 6 ตุลาคม 2567 Zone Better World ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์

คุณธีรพล โพธิ์เปี้ยศรี ผู้ชนะรางวัลช้างเผือก ในผลงานชื่อ “ดินแดนแห่งชีวิต” เผยว่า “ความหลากหลายทางชีวภาพ ผมนึกถึงสิ่งแวดล้อม ผมมองว่าเป็นการเชื่อมโยงระหว่าง ธรรมชาติกับสิ่งมีชีวิตซึ่งเป็นการพึ่งพาอาศัยเกื้อกูลกัน พื้นเพผมเป็นคนต่างจังหวัดอยู่กับท้องทุ่งได้ใช้ชีวิตกับพื้นที่ระบบนิเวศที่สมบูรณ์เป็นวิถีชีวิตแบบหากิน ในงานภาพพิมพ์ของผมจะเห็นได้ว่ามีสัตว์ สิ่งแวดล้อม ที่พักอาศัยของมนุษย์เป็นการปรับตัวของสิ่งมีชีวิตกับธรรมชาติให้มีความสมดุลกัน จัดองค์ประกอบงานชิ้นนี้คือการนำเอารูปแบบของสิ่งแวดล้อม สัตว์ ที่อยู่อาศัยของผู้คนให้มีเสปซที่กว้างเพื่อให้เห็นถึงการอยู่อาศัย การเรียนรู้ การอนุรักษ์ การรักษาไว้ซึ่งระบบนิเวศ ผมอยากให้ผลงานศิลปะได้เป็นเครื่องมือสื่อสารให้กับผู้คนทั่วไปได้เล็งเห็นและตระหนักถึงการมีอยู่ของสิ่งมีชีวิต คุณค่าของธรรมชาติ การอาศัยซึ่งกันและกัน และเกื้อกูลกันอยู่เสมอ”

คุณไชยันต์ นิลบล ผู้ชนะรางวัลชนะเลิศ ในผลงานชื่อ “ความหลากหลาย ภายใต้สภาวะที่ถูกครอบงำ”  เผยว่า “ความหลากหลายทางชีวภาพ ตัวเราเองจะมองเห็นภาพในมุมของความสวยงามของสิ่งมีชีวิตที่อยู่ร่วมกัน จึงกลับมาทบทวนและตั้งคำถามกับมันว่าถ้าเรามองในมุมมืดในสิ่งที่มนุษย์รุกล้ำพื้นที่ของสัตว์ป่า ควบคุมพื้นที่ของสัตว์ เราเห็นปัญหาด้านนี้ทำให้สูญเสียสมดุลทางธรรมชาติ ในตัวผลงานจึงนำเสนอผ่านโครงสร้างของตัวอ่างอาบน้ำที่เกิดจากสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้น จะมีสัตว์ที่อยู่ในอ่างอาบน้ำหลายๆชนิด ต้นไม้คือต้นบอนไซซึ่งถูกควบคุมจากมนุษย์ ทั้งหมดนี้แสดงให้เห็นการจำกัดขอบเขตของสัตว์ งานศิลปะเหมือนภาษาๆหนึ่ง ที่ศิลปินสื่อสารออกไปอยากจะถ่ายทอดให้คนรู้สึกถึงปัญหาที่มันเกิดขึ้นหรือให้คนมองเห็นและตระหนักจะได้ช่วยลดปัญหาที่เกิดขึ้นให้น้อยลง”

คุณเญอรินดา แก้วสุวรรณ ชนะรางวัลคุณหญิงวรรณา ในผลงานชื่อ “Bond of Friendship (ความผูกพันแห่งมิตรภาพ )” เผยว่า “ตั้งแต่เด็กเป็นคนชอบธรรมชาติ ชอบเก็บเกี่ยวจินตนาการกับธรรมชาติ ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมคือเป็นส่วนสำคัญในการสร้างแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ผลงาน ความหลากหลายทางชีวภาพ เป็นสิ่งมีชีวิตทุกสิ่งทุกอย่างบนโลก สรรพสิ่งล้วนพึ่งพิงอิงอาศัยกันและกัน เกิดเป็นสายใย สาย สัมพันธ์ ประสานเชื่อมโยง อย่างถ้อยทีถ้อยอาศัย ด้วยสายสัมพันธ์ที่สมดุลและกลมกลืน เกิดเป็นแรงบันดาลใจในการ สร้างสรรค์ผลงานชิ้นนี้ด้วยการถ่ายทอดความผูกพันของเราผ่านตัวงานเส้นด้ายเส้นเล็กผสมกันหลายๆเส้น รวมกันเป็นหลากสีจนเป็นพื้นที่ใหญ่ ซึ่งเราคิดว่าจุดเล็กๆที่เราอยากสื่อ มันสามารถเป็นแรงกระเพื่อมให้คนเห็นได้คำนึงถึงคุณค่าของสิ่งแวดล้อมมากขึ้นได้”

คุณสันติ สีดาราช ผู้ชนะรางวัล CEO AWARD ในผลงานชื่อ “เสียงจากป่า 2024’’ เผยว่า “ผมว่าศิลปะช่วยจรรโลงจิตใจและจิตวิญญาณให้เราตระหนักรู้และคิดได้ ผลงานเสียงจากป่า เป็นเทคนิคการต่อประกอบไม้และมีการผสมซาวเสียงเข้าไป แรงบันดาลใจมาจากผมเห็นสภาพแวดล้อมที่อยู่รอบตัวเรามันเกิดการเปลี่ยนแปลง ผมยึดถือสภาพอากาศเป็นหลัก เช่น ฤดูร้อนบางทีฝนตก หรือฤดูหนาวมีแค่2-3วัน ผมว่าเกิดจากผลกระทบของมนุษย์ที่รุกล้ำธรรมชาติ ความหลากหลายทางชีวภาพเรื่องของสิ่งแวดล้อมสิ่งมีชีวิตสามารถเอื้อกันได้อยู่ด้วยกันได้ จากรูปทรงที่ไม่สมประกอบเกิดจากการทำลายที่เกินขอบเขตทำให้เสียงตรงนั้นสะท้อนออกมา ท้ายนี้ผมคิดว่าโครงการศิลปะไทยจะดีและพัฒนาไปเรื่อยๆ ถ้ามีงานประกวดเช่นโครงการนี้ และเอกชนรัฐบาลช่วยสนับสนุนจะช่วยพัฒนาวงการศิลปะให้เติบโตไปไกลยิ่งขึ้น”

นิทรรศการศิลปกรรมช้างเผือก ครั้งที่ 13 จัดแสดงผลงาน “ความหลากหลายทางชีวภาพ” จะเปิดให้ประชาชนเข้าชมตั้งแต่วันนี้ – 11 กันยายน 2567 (หยุดทุกวันจันทร์) เวลา 10.00-19.00 น. โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ณ ห้องนิทรรศการ ชั้น 9 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร และผลงานบางส่วนนำไปจัดแสดงให้ชมอีกครั้งในงาน SX2024 ระหว่างวันที่ 27 กันยายน – 6 ตุลาคม 2567 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์


ข้อมูลวันที่ 02/09/2024